5 ทักษะต้องขยับ เพื่อยกระดับในการสอนคน


Blog Detail

 
รู้ไหมครับ
นอกจาก “ของดี” ที่คุณมีแล้ว
 
ก็ยังมีองค์ประกอบอื่นในตัวคุณ
ที่มีผลต่อการเทรนคนด้วย
 
เพราะลำพังคุณภาพของวิชาความรู้
ที่จะต่อท่อไปสู่ทักษะใหม่ของลูกทีมได้นั้น
 
มันต้องอาศัยตัวผู้ถ่ายทอด
ที่ทั้ง ‘เฉลียว’ และ ‘ไว’ พอ
 
ทั้งในเชิงรุกและรับ
ณ ตอนที่อยู่หน้าชั้นเรียนด้วย
 
หรือจะเรียกว่า
มันเป็น “ทักษะเทรนเนอร์”
อะไรทำนองนั้นก็ว่าได้
 
ทักษะติดตัวของนักสอนเก่ง ๆ
 
ที่ถ้าคุณมีมากเท่าไหร่
ก็ยิ่งยกระดับการสอน
ให้สูงขึ้นไปได้มากเท่านั้น
 
มันคือ “5  ทักษะ”
 
ของคนเป็นแม่ทีม
หรือเทรนเนอร์มือดี
 
ต้องฝังชิปเอาไว้
ใน DNA เลยครับ
 
 
1. การพูด
 
ในที่นี้ผมไม่ได้เจาะจงถึง
การพูดต่อยหอย เป็นวรรคเป็นเวร
 
แต่ขอพุ่งตรงไปยัง
การเรียบเรียงที่ดี
อธิบายรู้เรื่อง
 
แปลงเรื่องยาก ๆ
ให้คนฟังเข้าใจง่าย
 
บางเรื่องอาจเป็นเชิงเทคนิค
หรือมีความลึกอยู่พอสมควร
 
คนสอนเก่งจะสามารถ
ตีมันออกมา แล้วจัดเรียงใหม่
 
อาจไล่ Step เรียงลำดับ
การทำความเข้าใจ
 
หรือ Design ให้เห็นภาพ
เชื่อมเป็นฉาก ๆ ได้
 
แล้วเล่าให้คนฟังพยักหน้าตาม
พร้อมสายตามีความหวัง
 
เป็นการย่อยสิ่งยาก ๆ
มาให้เค้ากลืนเข้าไปง่าย ๆ
 
แบบนั้นแหละครับ
ที่เรียกว่า พูดดี สื่อสารเก่ง
 
 
2. การอ่าน
 
นี่ผมก็ไม่ได้หมายถึง
การอ่านตัวหนังสือหรอกนะครับ
 
แต่มันคือการอ่าน
“Reaction ของคนเรียน”
 
และแน่นอนครับว่า
การอ่านย่อมต้องใช้สายตา
 
คุณจึงหลีกเหลี่ยง
การมี Eye Contact ไปไม่ได้เลย
 
เพื่อจะเข้าใจปฏิกิริยาคนฟัง
ว่าเค้าเริ่มตามไม่ทันไหม ?
 
ทำท่าว่าจะงงตรงไหน ?
ดูท่าจะข้องใจ สับสนอะไร ?
 
หรือแม้แต่เริ่มสมาธิหลุด
ก็ต้องสังเกตให้ดีครับ
 
ไม่งั้นการไปต่อด้วยกัน
คงเชื่อมติดลำบาก
 
ไม่อาจพาเค้าไปถึง
แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้
 
 
3. การฟัง
 
ต้องไม่ลืมนะครับ
ว่าจริง ๆ แล้ว
 
การสอนนั้น
ไม่ใช่การสื่อสารทางเดียว
 
แต่ต้องสอดประสานไปด้วยกัน
ทั้งคนสอนและคนเรียน
 
คุณมีสิ่งที่จะมอบให้เค้า
เค้าก็มีสิ่งที่อยากถาม
หรืออยากบอกคุณเหมือนกัน
 
ดังนั้นพวกควาดคิดเห็น
และข้อสงสัยต่าง ๆ นานา
 
เป็นอะไรที่คุณ
ต้องให้ความสำคัญ
 
รู้จัก ‘หยุดฟัง’ เสมอ
 
เพราะนั่นมีความล้ำค่าบางอย่าง
ในตัวมันอยู่เหมือนกันนะครับ
 
มันเป็นได้ทั้งตัวสะท้อน
ว่าเค้าสนใจคุณจริง ๆ แค่ไหน ?
 
เค้าตามลึกลงไปกับคุณ
ถึงขั้นไหนแล้ว ?
 
เค้ายังต้องเพิ่มอะไรอีก ?
 
หรือแม้แต่...
 
คุณสามารถอธิบายเค้า
ได้เข้าใจดีพอแค่ไหน ?
 
มีตรงไหนที่คุณควร
ปรับปรุงให้ดีขึ้นไปอีก ?
 
จนผมกล้าพูดเลยครับว่า...
 
“การฟัง”
จะทำให้คุณได้อะไร
ล้ำค่าอย่างแน่นอน
 
 
4. การตอบสนอง
 
มันคือผลพวงที่ตามมา
จากการฟังในข้อที่แล้ว
 
ที่คุณต้องตอบสนอง
เพื่อน้อมรับความคิดเห็น
 
และการไขข้อสงสัย
คาใจเค้าให้กระจ่าง
 
ซึ่ง “การรับความคิดเห็น” นั้น
ต้องผสมเข้ากับ “การเปิดใจ”
 
และแสดงออกถึง
ความพยายามที่คุณ
จะนำไปพิจารณาจริง ๆ
 
และ “การตอบข้อสงสัย”
ต้องผสานเข้ากับ “ความใส่ใจ”
 
ใส่ใจที่จะหาคำตอบ
และหาทางอธิบายให้ดีที่สุด
 
เอาจนเจ้าของคำถาม
ปีนขึ้นจากหล่มที่เค้าติดอยู่
จนไปต่อได้ในที่สุด
 
หรือถ้าไม่สามารถทำได้
ณ ตอนนั้นจริง ๆ
 
ก็จะไปควานหาคำตอบ
มามอบให้ได้ในภายหลัง
ดังที่สัญญาไว้
 
“การเปิดใจ”
และ “ความเอาใจใส่”
เป็นสิ่งที่ดีต่อผู้รับมันเสมอ
 
แล้วสุดท้าย
มันจะสะท้อนกลับมา
 
เป็น “ใจ” ที่เค้า
ยกให้กับคุณด้วยเช่นกัน
 
 
5. การคุมบรรยากาศ
 
บทบาทของคนที่
อยู่บนเวที หรือหน้าชั้น
 
ไม่ว่าจะไซส์เล็ก กลาง ใหญ่
 
ก็ไม่ต่างอะไรกับ
“วาทยกร” เลยล่ะครับ
 
ที่ต้อง ‘คุมบรรยากาศ’
ให้คนเรียนยังอยู่กับคุณ
 
จูงเค้าเดินกับคุณ
ไปตลอดเส้นทาง
โดยไม่หลุดโฟกัส
 
ด้วยการสร้างสมดุลระหว่าง
“Educate + Entertain”
 
“Educate”
 
ด้วยข้อมูลความรู้ชั้นดี
บวกกับวิธีที่ดึงสมาธิ
ให้จดจ่อต่อบทเรียน
 
“Entertain”
 
ด้วยเทคนิค หรือฝึกเสน่ห์
ในการสอน การเล่า ถ่ายทอด
 
ทำให้เค้ารู้สึกสนุกต่อการเรียน
และยิ่งหิวที่จะรับอะไรเข้าไปมากขึ้น
 
ซึ่งถ้าคุณ Keep บรรยากาศไม่ได้
เอาคนเรียนไม่อยู่ หลุด Control ไปหมด
 
ความพยายาม
ที่อุตส่าห์ทุ่มเทมาทั้งหมด
 
ตั้งแต่คิดวาง Outline
ขลุกตัวเตรียมสไลด์
จัดเตรียมสถานที่
 
มันก็เหมือนกับทุกอย่าง
สูญเปล่าเลยทีเดียวครับ
 
แล้วแน่นอนเลยว่า
มันยากที่ผลลัพธ์จะเกิด
 
.............................
 
เมื่อคุณมุ่งหมายแล้ว
ว่าจะเป็นผู้พัฒนาคน
 
มันก็เป็นหน้าที่ด้วยเช่นกัน
ที่จะต้องพัฒนาตัวเอง
 
เพื่อให้ตัวเองมีทักษะแน่น ๆ
 
ด้วยเป้าหมายที่จะดันเค้า
ไปให้ถึงฝั่ง เกิดผลลัพธ์
ที่เปลี่ยนแปลง
 
ซึ่งต้องคูณเข้าด้วยกัน
 
ทั้งวิชาความรู้
ที่เพิ่ม Level ขึ้นเรื่อย ๆ
 
ทั้งเทคนิคการสอนมากมาย
ให้เอื้อต่อคนเรียน
 
และด้วยทักษะทั้ง 5
เพื่อจุดระเบิดให้ไปได้ดียิ่งขึ้นครับ