ทำตัวแบบไหน... เพื่อนร่วมงานถึงจะเกรงใจคุณ


Blog Detail

ผมรู้จักคู่แฝดมากมายที่เติบโตมาแล้ว มีความชอบคนละอย่าง
ทำอาชีพคนละอย่าง แม้แต่ “นิสัยใจคอ” ก็แตกต่างกัน

คำตอบของพื้นฐานที่เปลี่ยนไปนั้นมาจาก “สิ่งแวดล้อม”
สิ่งแวดล้อมนั้นมีความสัมพันธ์กับมนุษย์อย่างลึกซึ้ง
อากาศที่อับชื้นทำให้เราหายใจไม่สะดวก
แสงแดดที่เหมือนกับจะเผาเราทำไก่ย่างทำให้เราโมโหง่ายขึ้น 
อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมภายนอกส่งผลถึงพฤติกรรมของเรา  ไม่มากก็น้อย


ในเรื่อง “จิตใจ” ก็เช่นกัน
คนรอบข้างนั้นมีผลกับเรามากกว่าที่คิด
หลาย ๆ คนไม่ชอบการทำงาน
เพราะเกลียดเพื่อนร่วมงานยิ่งกว่างานที่หนักหนาสาหัส
สิ่งแวดล้อมบางทีก็สาหัสกว่าหน้าที่

ตัวผมเองก็เป็นคนที่ต้องประสานงานกับคนตลอดเวลา
ในหลาย ๆ บทบาท ในหลาย ๆ ความแตกต่างของอายุ

จึงได้สรุปวิธีการประพฤติตัวแบบไหน ทำให้คนรอบข้างเกรงใจ
และทำให้ที่ทำงานของเราซึ่งเป็นบ้านหลังที่สองที่สามของใครๆ หลายคน เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีครับ




1 ) พูดให้น้อยกว่าผลงาน

โลกที่มี Social Media เป็นโลกที่อึกทึกคึกโครม
ใคร ๆ ก็เป็นผู้พิพากษาได้
แค่เพียงคอมเม้นต์ใต้โพสต์แล้วหา "แนวร่วม" เข้ามาสนับสนุนก็พอ
ในยุคที่คนพูดน้อยเหลืออยู่ไม่มาก นั่นทำให้คนเหล่านั้นมี “เสน่ห์” มากขึ้น ในโลกของการทำงาน
ผลงานคือสิ่งเดียวที่บริษัทต้องการอย่างแท้จริง
(แต่ถ้าบางบริษัทต้องการแต่ "คำพูดดี ๆ"  บริษัทนั้นกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับ “อนาคต” แน่นอน)
เพราะผลงานเท่านั้นจะสร้างผลที่เป็นเงินให้แก่บริษัท

ผลงานยิ่งใหญ่เท่าไหร่ก็ยิ่งดี
แต่ ... คนที่ผลงานดีดันไปคุยใหญ่กว่าผลงาน
คนแบบนี้น่า "รำคาญ" มากกว่าน่า "นับถือ"



การพูดเพื่อเป็นแรงบันดาลใจกับ “การอวดตัว” มันต่างกัน
การพูดเพื่อเป็นแรงบันดาลใจไม่จำเป็นต้องพูดบ่อย ๆ
คนเขาก็เห็นภาพอยู่แล้ว เค้ารอฟังแค่ว่า ...
แล้วฉันจะต้องทำยังไงต่อ หรือ จะช่วยอะไรฉันให้พิชิตเป้าหมายได้แบบนี้บ้าง?


การพูดเพื่อเปิดเผยผลงานที่จำเป็นในการแสดงตัวตนในบริษัท
หรือ "ชื่อตำแหน่ง" ก็เรื่องหนึ่งครับ  เราอาจจะต้องบอกสักหน่อยว่า “เราเป็นใคร?”

แต่การโอ้อวด "แบบออกตัวแรง"
มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะดีกว่าสิ่งที่เราทำ
เพราะสุดท้ายหลักฐานจริง ๆ ไม่เคยอยู่ในคำพูด 
แต่คุณทำอะไรลงไปบ้าง นั่นแหละครับหลักฐานที่แน่นหนาที่สุด



2 ) ช่วยเมื่อไม่ต้องช่วยก็ได้

การช่วยเหลือคนอื่น ๆ เป็นสิ่งที่ผมชอบทำ
อาจจะเพราะเห็นว่าเราทำได้ ไม่ได้เหนื่อยอะไร
แต่นอกเหนือจากนั้นการช่วยเหลือใครนั้นเป็นการสร้างบารมีอย่างหนึ่ง
เราไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือใครเพราะหวังให้เขาทำดีกลับ
เพราะนั้นมันเหมือนการปล่อยกู้ที่เราต้องเครียดเรื่องเก็บดอกทุกเดือน


การช่วยเหลือคนเหมือนการปลูกต้นไม้
ต้องเข้าใจครับว่าไม่ใช่ทุกต้นที่จะโต
และไม่ใช่ทุกต้นที่โตแล้ว “ออกผล” สวยงามให้กับเรา
แต่ยังไงก็ตาม “ประโยชน์” ของการปลูกนั้นก็ยังอยู่



ยกตัวอย่างเช่น
โดยปกติแล้วถ้าเราอยู่ในตำแหน่งของฝ่ายจัดซื้อ
เราอาจจะช่วยหาข้อมูลสินค้าของคู่แข่งให้ก็ได้ ราคาตลาดเป็นยังไง?
ซึ่งเอาจริง ๆ ก็ไม่ใช่ “หน้าที่โดยตรง” ที่จะต้องมาช่วยเหลือ

หรือบางทีมีงานต้องประชุมกันถึงดึก มีลูกน้องคนนึงบ้านอยู่ไกลมาก
เราก็ไปส่งทั้ง ๆ ที่มันอ้อมจากเส้นทางกลับบ้าน

ช่วยโดยที่ไม่ต้องช่วยก็ได้
มันแสดงถึงการช่วยเหลือของ “เพื่อนมนุษย์” ไม่ใช่แค่ “เพื่อนร่วมงาน”



ผมเชื่อว่า การแสดงออกเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลต่อ "ความสัมพันธ์" 
เราไม่ควรแค่พูดว่ารักใคร เราต้องแสดงความรักให้เขาได้เห็น
โดยเฉพาะช่วงเวลาที่คนอื่นเดือดร้อน มันก็ดูกันตรงนี้แหละครับ
ว่าเราเป็นแค่คนรู้จักชื่อกันหรือเป็นเพื่อนกันจริง ๆ 
บารมีที่ดีต้องเกิดจาก "การให้" ไม่ใช่ตำแหน่งครับ
เพราะผมเชื่อว่าคนเราจะยอมรับความดีมากกว่าอำนาจ



3 ) ต่อยแรง ๆ แค่ทีเดียว

ผมชอบข้อคิดที่หนังสือ 
"รู้แล้วเหยียบไว้ เศรษฐีคนต่อไปคือคุณ" บอกเอาไว้ว่า
ถ้าอยากจะเลี้ยงข้าวคน ให้เลี้ยงแพง ๆ ครั้งเดียว
ดีกว่าซื้อกาแฟให้เค้าทุกวัน วันละแก้ว 
เพราะนัยยะสำคัญ ทำให้คนจดจำ


ศิลปินดังหลายคน มีเพลงสร้างชื่อแค่เพลงเดียว
แต่เพลงเดียวนั้นแหละทำให้ชื่อของเขาเป็นทื่รู้จัก
ไม่ได้แตกต่างจากแบรนด์ของตัวเราในบริษัท
เราทำผลงานอะไรโดดเด่นเป็นตำนานได้ไหม
เราพลิกฟื้นจากขาดทุนเป็นกำไรได้ใน 6 เดือน
เราทุบสถิติโดยการขายสินค้า A มากที่สุดตั้งแต่บริษัทเปิดมา
เราสร้างทีมงานคุณภาพได้มีจำนวนมากที่สุด เป็นประวัติกาล
เพราะปกติ Turn overate สูง


โดยส่วนตัวผมชอบงานที่เป็นงานใหญ่
เพราะนั่นคือโอกาสในการสร้างตำนาน
อะไรก็ตามที่เป็น BIG IMPACT คือภารกิจของเราในบริษัท
เดี๋ยวนี้เราจะได้ยินคำว่า THINK 10X มากขึ้น (Exponential thinking)
และนั่นเป็นความทะเยอทะยานที่ดี
ผลงานที่ทำให้คนจดจำไม่ลืม พูดถึงชื่อเราทีไรก็เล่าแต่เรื่องนี้



4 ) มีมารยาทโดยเท่าเทียม

ผลงานกับความอาวุโสมันคนละเรื่องกัน
พอขึ้นประโยคแบบนี้ผมไม่ได้กำลังจะบอกให้ปีนเกลียวกับรุ่นพี่เรานะครับ
แต่กลับกันจงเคารพทุกคนตาม “อาวุโส”
เรื่องการไหว้เป็นวัฒนธรรมที่ดีที่สุดอย่างนึงของคนไทยครับ
ไม่ว่าเขาจะตำแหน่งอะไร ถ้าเค้ามีอายุมากกว่าเรา
เขาก็สมควรได้รับความนอบน้อมจากเรา


บางคนอาจจะไม่ได้ทำผลงานโดดเด่นเท่าเราจะด้วยความสามารถ
หรือเนื้องานก็ตามครับ
แต่เค้าก็เป็นบุคคลที่สมควรแก่การไหว้ หรือทักทายอย่างให้เกียรติ
เชื่อผมสิว่าต่อให้เขาเป็นแค่ “คุณป้าแม่บ้าน”
มันจะมี “บางจังหวะ” ที่แกจะช่วยเราได้แน่นอนครับ


บางที “สัมมาคารวะ” มักจะไม่มาพร้อมกับความเก่ง
แต่ถ้ายิ่งเก่ง-ยิ่งน่ารัก ชีวิตเราจะโคตรลื่น งานเราก็ยิ่งง่ายขึ้น

เพราะเมื่อเราได้ดิบได้ดีกว่าเขาอาจจะไม่ใช่ทุกคนที่ยินดีกับ “ความรุ่ง” ของเรา
แต่อย่างน้อยก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งอยากให้เราได้ดีขึ้นไปอีกครับ



5 ) อภัยและหายใจลึกๆ

เราทุกคนในทีมเป็นอวัยวะแต่ละส่วนที่ต้องร่วมมือกัน 
ทำงานให้เข้าขากันเพื่อให้ร่างกายทำงานได้
และไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ดี “อาการป่วย” จะต้องเกิดขึ้น
แต่ตราบใดที่เรายังทำงานกับสิ่งที่เรียกว่า “มนุษย์”
ความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ
ถึงแม้โทรศัพท์ของเราจะเอ๋ออยู่บ่อยครั้ง
แต่ก็ไม่เยอะไปกว่า “ความมึน” ของเพื่อนคนหนึ่งที่เรารู้จักแน่อน


และเมื่อความผิดพลาดเกิดขึ้น
คำถามที่สำคัญที่สุดที่จะต้องตอบก็คือ 
เราจะผ่านเรื่องนั้นไปได้ยังไง?
และทำยังไงงานถึงจะไม่เสีย?


แต่ความเป็นจริง
มันกลับกันเวลาที่คนส่วนใหญ่ทะเลาะกันกลับชอบถามว่า “ใครผิดวะ?”
ที่ถามก็ไม่ใช่เพื่อหาคนมารับผิดชอบ
แต่แค่อยากจะหาคนที่ต้องรับโทษมากกว่า
แต่ให้ความรู้สึกผิดและพลาดมาคลุมสมองของเรา
เพราะนี่มันเรื่อง “งาน” งานไม่ดี มันก็ส่งผลต่อทุกคนนั่นแหละ
ไม่ใช่แต่คนผิด แต่ผลงานของเดือนนั้นจะฉิบ(หาย)โดยทั่วกัน

" แทนที่จะมัวเสียเวลาตัดสินใจว่าใครผิด
เอาเวลาไปหาทางแก้ก่อนจะดีกว่าไหม? "



ใครผิดไม่ผิดยังไงเดี๋ยวค่อยกว่ากัน
หลาย ๆ ครั้งเราจะต้องหายใจลึก ๆ กับความผิดพลาดที่แบบ… มันผิดได้ยังไงวะเนี่ยยย?
แต่ก็นั่นละครับ งานที่ผิดพลาดจะยิ่งทวีความรุนแรงตามระยะเวลาที่เราปล่อยใหัมันลุกลาม

และถ้ามันไม่ร้ายแรงจนเกินไป หรือผิดซ้ำซากติด ๆ กันแบบไม่คิดจะปรับปรุงตัว
ก็ควรให้อภัยครับ เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แก้ไขแล้ว ไม่ได้ส่งผลต่อระยะยาว
อาจจะไม่จำเป็นต้องเอามาพูดต่อให้ใครฟัง
เก็บเป็นความลับระหว่างคน 2 คนบ้าง แล้วเขาจะเกรงใจเราขึ้นอีกเยอะครับ



6 ) เปิดเผยผลงานบนยอดเขา

จริง ๆ ข้อนี้เหมือนว่าจะดูขัดกับข้อแรกที่บอกว่า “พูดให้น้อยกว่าผลงาน”
แต่ผมบอกได้เลยว่า ถ้า ณ ตอนนั้นคนที่อนุมัติเงินเดือนของเรา
เขาไม่ได้รับรู้ว่าเรามีอยู่แล้วมีประโยชน์อะไร? เรากำลังจะตกที่นั่งลำบากครับ…


หลาย ๆ ครั้ง โปรเจ็คที่เราทำอยู่ ผลมันไม่ได้แทงดินออกมาใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า
บางทีใช้เวลาเป็นเดือน บางโปรเจ็คใช้เวลาเป็นปี
พอตอนเสนอแผน ทั้งหัวหน้าทั้งผู้บริหารเขาก็ได้ยินนั่นแหละ
บอกว่า “รอได้” แต่พอถึงสถานการณ์จริง ๆ  คนจ่ายเงินเขารอไหวหรือเปล่า?
และขอให้จำไว้อีกอย่างว่า
“ยิ่งจ่ายมาเยอะ ความคาดหวังก็เยอะ และคาดหวังเร็ว”


ถ้าผลงานของเราใช้เวลาสุกงอมอีกนาน  เราไม่ควรเก็บงำไว้คนเดียว
รอบอกทีเดียวตอนสำเร็จแบบนี้อันตรายเกินไป
เมื่อมีความสำเร็จในแต่ละขั้นเกิดขึ้น เดินไปบอกเจ้านายบ้าง

ว่าเงินเดือนที่จ่ายให้มา เรากำลังเอามาสร้างอะไรอยู่?
ถึงแม้ว่าสุดท้ายเงินเดือนของเรานั้นถูกจ่ายเพื่อผลลัพธ์ไม่ใช่กระบวนการก็ตามเถอะ


เอาเป็นว่า ถ้าเป็นไปได้คนที่ใหญ่ที่สุดต้องอยู่ข้างเรา แต่ไม่ใช่เพราะคำประจบ
เหตุผลดี ๆ ที่เรามีคนสนับสนุนจะต้องเป็นเรื่องของ “ผลงาน” ของเราเท่านั้นครับ



7) โยนความดีให้ผู้อื่น

คนส่วนใหญ่ปากแข็งที่จะยอมรับผิด และยังปากหนักที่จะชมคนอื่น
แต่อย่าเป็นคนดีที่อยู่โดดเดี่ยวบนโลก คนส่วนใหญ่เป็นคนดีเป็นคนเก่งอยู่แล้ว
การชื่นชมในส่วนดีของผู้อื่นเป็นการเติมความหวานให้กับชีวิตคน ๆ นั้น
การชื่นชมคนอื่น (อย่างจริงใจ) ทำให้เราเป็นคนน่ารักขึ้น เป็นบรรยากาศที่ดีสำหรับคนอื่น


เราไม่มีวันรู้หรอกว่า คน ๆ หนึ่งเขารู้สึกยังไงกับตัวเองในตอนนี้
ณ เวลานั้นเขาอาจจะกำลังสบประมาทว่า ตัวเองเป็นคนห่วยแตก
หรือบ่นว่าทำไมชีวิตฉันโคตรซวย  หรือเปล่าก็ไม่รู้
แต่ผมเชื่อว่า คนทุกคนต้องการใครสักคนมาย้ำเตือนว่า
เขามี "คุณค่า"   เขาเก่งกว่าที่เขาคิด (หรือบางคนก็ลืมคิดไป)


คำชมของเราอาจจะช่วยดัน "คนที่ล้ม" ให้ยืนขึ้นมาใหม่ก็ได้  
คำชมของเราอาจจะทำให้เขารู้สึกมีตัวตนในบริษัท
คำชมของเราอาจจะเป็นเรื่องราวประทับใจให้เขากลับไปเล่าให้คนที่บ้านฟังก็ได้


อย่าประหยัดคำชมจนคนรอบข้างของเรารู้สึกแห้งแล้งและโดดเดี่ยว
ไม่มีใครสมควรที่จะรู้สึกว่า  ตัวเองไร้ค่าหรอกครับ

เพราะเวลาที่เขาเหลืออยู่ทั้งชีวิตจะเป็นเวลาที่แสนโหดร้ายอย่างแน่นอน
ถ้าเค้าได้แต่ถามตัวเองว่า “นี่ฉันหายใจต่อไปทำไม?”



8 ) ไม่เป็นของตายที่น่ารัก

ความช่วยเหลือหรือคำแนะนำนี่แปลกอยู่อย่างหนึ่งครับ
ถ้ามันไม่ได้ไปในเวลาที่เขา "ยอมรับ" มันก็กลายเป็น "การแส่หาเรื่อง" 
คนที่ล้มจะลุกขึ้นได้ก็ด้วยตัวของเขาเองเท่านั้น
มือของเราได้แค่ดึงให้เค้าลุกเร็วขึ้น


การที่เราเป็น คนมีน้ำใจ "แบบชอบยัดเยียด"
มันจะทำให้การช่วยเหลือของเราไม่มีคุณค่า มันได้มาง่ายเหลือเกิน

กลับกันที่เรารู้สึกเสียดายหรือหวงของที่ซื้อมาแพง
ก็เพราะ “มันได้มายาก”


การช่วยเหลือคนเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องดูคนที่พร้อมจะให้เราช่วยก่อน
คนกลุ่มนี้คือคนกลุ่มแรกที่เราต้องวิ่งไปดึงขึ้นมา
เพราะบางคนก็แค่เรียกร้องความสนใจ แต่ไม่ได้ต้องการจะแก้ปัญหาจริง ๆ  
สำหรับคนแบบนั้นเราอาจจะแค่ฟังแล้วก็พยักหน้าตามจนจบ ก็พอแล้วล่ะครับ



9 ) งานเศร้าคืองานของเรา

ในชีวิตของคนเราจะต้องเจอเหตุการณ์สุขกับทุกข์ มีแค่ 2 อย่าง
เหตุการณ์ที่เป็นสุขก็เช่น แต่งงาน รับปริญญา คลอดลูก เป็นต้น
ประเด็นก็คือการที่เราไปงานเหล่านี้นั้นถือว่าเป็นการ “ร่วมสุข” กับเพื่อนของเรา
ในเวลาที่เขามีความสุข เราจะไปเป็นอีกคนที่ไปเติมความสุข


แต่ถึงแม้ตลอดชีวิตของเราจะมีเรื่องดี ๆ มากมาย
แต่แน่นอนเงาอีกด้านย่อมมีเสมอ
คนเราหนีไม่พ้นกับความเศร้าอย่างแน่นอน เพราะคนเราถูกสร้างมาให้มีความรู้สึก


ผมเชื่อว่าทุกข์คือ สิ่งที่เราต้องผ่านมันไปตลอดช่วงของชีวิต
ไม่มีใครไม่มีปัญหา เราอาจจะเห็นคน ๆ หนึ่ง ยิ้มตลอด
ไม่เคยโพสต์คร่ำครวญอะไรในเฟสบุค แต่นั้นก็เพราะเขาผ่านมันมาได้ต่างหาก
แม้เขาจะรู้สึกแย่ขนาดไหนก็ตาม
พอตอนเด็กก็มีปัญหาแบบหนึ่ง พอโตขึ้นมาก็มีปัญหาแบบหนึ่ง
โดยเฉพาะการสูญเสียซึ่งถือเป็นความทุกข์ที่ยิ่งใหญ่
เพราะไม่มีเรื่องร้ายอะไรที่อยู่ถาวรนอกจากการสูญเสีย


ถ้าเรารู้ว่าเพื่อนร่วมงานหรือคนที่เรารู้จัก ต้องพบกับความยากลำบาก
ต้องสูญเสียใครสักคน อย่าผัดผ่อนที่จะไม่ไปร่วมแสดงความเสียใจ
เรื่องเศร้าคือ เรื่องใหญ่ของทุกคน
งานสุขไม่ไปไม่เป็นไร แต่งานทุกข์ "ต้องไปเท่านั้น"



และนี่คือ วิธีง่ายๆเพื่อที่จะให้คนที่เราต้องไปเกี่ยวข้องปฎิบัติต่อเราดีขึ้น
เกรงใจและเคารพเรา เพราะสำหรับหลาย ๆ คนแล้ว
ชีวิตการทำงานคือ ครึ่งหนึ่งของชีวิตเลยทีเดียว หวังว่าทุกท่านจะมีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นนะครับ