ความต้องการ ความคาดหวัง
บางครั้งไปถึงการเรียกร้อง
การแสดงออกทางความรู้สึกเหล่านี้
เป็นสิ่งที่ผู้นำยังไงก็ต้องเจอครับ
เพราะคุณต้องดูแลคนจำนวนมาก
แล้วคนก็มีหลากหลายแบบ
หลากหลายความต้องการ
ถ้าคุณอยากได้ใจใครไปหมด
ด้วยการให้ที่ตามใจทุกอย่าง
ตลอดเวลา
บางทีมันอาจไม่ใช่เรื่องที่ดี
เสมอไปก็ได้นะครับ
ซึ่งแน่นอนว่าที่ผมพูด
ทั้งหมดนี้มีเหตุผล
และมันก็เป็น 3 เหตุผล
ที่กระทบชิ่งกับอีกหลายเรื่อง
ที่คุณเองต้องเก็บไปคิดให้ถี่ถ้วน
ก่อนจะเสิร์ฟความต้องการ
ของลูกทีมในแต่ละครั้ง
เหตุผลข้อคิดที่ว่ามีอะไรบ้าง
ไปดูกันเลยครับ
1. ความต้องการส่วนตัว vs ความจำเป็นส่วนรวม
ความต้องการ ข้อเรียกร้องบางอย่าง
ของลูกทีมบางคนนั้น
เป็นเรื่องของ “ความต้องการส่วนตัว”
ในขณะที่สิ่งที่ทำได้หรือไม่ได้บางอย่าง
เป็นเรื่องของ “ความจำเป็น”
คุณต้องแยกแยะตรงนี้ก่อน
เป็นอันดับแรก
ลองสังเกตดูดี ๆ ก็ได้ครับว่า
เวลาที่คนเราอยากจะได้อะไรนั้น
เอาเข้าจริง ๆ มักเป็นความต้องการ
ส่วนตัวของคน ๆ นั้นซะเป็นส่วนใหญ่
ในขณะที่คุณต้องคุมทีม
ดูแลคนอีกหลายคน
สิ่งที่คุณต้องคำนึงก่อนเสมอ
กลับเป็นเรื่องของประโยชน์
และผลกระทบต่อส่วนรวม
การตามใจคนเพียงบางกลุ่ม
ที่ดูมี Power ในการเรียกร้อง
กว่าคนส่วนใหญ่
บางทีอาจกลายเป็นผลเสีย
ต่อคนอื่น ๆ ทุกหย่อมหญ้าซะด้วยซ้ำ
ดังนั้นสิ่งที่คุณจำเป็น
ต้องทำจริง ๆ คืออะไร ?
พยุงบรรยากาศที่ควรเป็นโดยรวม
หรือพยุงใจของคนบางกลุ่ม
เป็นการส่วนตัว ?
แบบไหนระยะยาวจะทำให้ทีมพัง ?
เพราะเรื่องพวกนี้คุณจะคิดแค่สั้น ๆ
ไม่ได้เด็ดขาดนะครับ แต่ต้องคิดให้ยาว
ด้วยวิธีของข้อ 2 ครับ
2. ผลดี vs ผลเสียระยะยาว
ที่ผมบอกไปในข้อแรก
ก็ไม่ได้หมายความว่า
อย่าไปให้ตามที่เค้าต้องการ
ซะทุกอย่างหรอกนะครับ
แม้บางอย่างอาจเป็น
ข้อเรียกร้อง หรือความคาดหวัง
ที่มาจากคนเพียงบางกลุ่ม
ก็ไม่ได้ตัดสินได้ทันทีหรอกครับ
ว่าจะเป็นเรื่องที่สั่นสะเทือนผลเสีย
ต่อคนอื่น ๆ เสมอไป
ตรงนี้คุณต้องชั่งน้ำหนัก
ในเรื่องของการให้เสมอครับ
เอาสิ่ง ๆ นั้นมาถ่วงน้ำหนัก
คานกัน 2 ข้างระหว่างตาชั่ง
เพื่อดูผลดีและผลเสีย
ที่จะตามมาในระยะยาว
เช่น ...
บางเรื่องที่ลงทุนระบบหลังบ้านแล้ว
จะทำให้คนทั้งทีมทำงานง่ายขึ้น
ตั้งหน้าตั้งตาโฟกัสการขายได้เต็มที่
หรือบางเรื่องคุณสปอยล์เกินไป
ยอมลงทุนให้ตัวแทนได้ภาพลักษณ์
แต่ไม่ได้ยอดขายกลับมาเพิ่มขึ้น
บางอย่างอาจเข้าเนื้อ ขาดทุน
หรือถึงขั้นกระทบต่อส่วนรวม
คุณก็ต้องแสดงความชัดเจน
บอกให้เค้าเข้าใจว่ามันไม่ได้จริง ๆ
เพราะรู้อะไรไหมครับ
ถ้าคุณให้เค้าง่าย ๆ ไม่รู้จักเบรกบ้าง
วันหนึ่งคุณเองนั่นแหละครับ
ที่จะถูกเค้าเบรกหงายหลัง
ด้วยความรู้สึกลึก ๆ
และคำกล่าวหาบางอย่าง
ที่จะเรื้อรังฝังใจต่อกันในระยะยาว
3. รู้จักวางเงื่อนไข vs โดนมองว่า “เธอเปลี่ยนไป”
อย่าปล่อยให้การตามใจ
อย่างไร้เงื่อนไขของคุณ
ทำให้เค้าติดนิสัย “ต้องได้”
ไปตลอดครับ
เพราะท้ายที่สุดแล้ว
มันจะเป็นเหมือน “ช่วงโปรโมชั่น”
ที่วันนึงคุณให้เค้าแบบเดิมไม่ได้อีก
คุณจะโดนตราหน้าว่า...
“ทำไมเธอเปลี่ยนไป”
“ทำไมเธอไม่เหมือนเดิม”
ดังนั้นคุณต้องระวังนิดนึงนะครับ
อย่าไปให้คำหมั้นสัญญา
มัดตัวเองตั้งแต่ต้น
ทั้งทางวาจาและพฤตินัย
ให้เค้ารู้สึกว่า...
“คุณจะให้เค้าได้ไปตลอด”
“เค้าจะได้รับจากคุณแบบนี้เสมอ ๆ”
แต่ต้องรู้จักแสดงความชัดเจน
หรือมีเงื่อนไขกันบ้างว่า...
“ให้ได้ตามจริงเท่านั้นนะ”
“หรือถ้าอยากได้มากกว่าระดับปกติ
ก็ต้องแลกเปลี่ยนกัน
ด้วยผลลัพธ์บางอย่างที่ได้มากกว่าเดิม”
เช่น ...
จะทำยอดขายได้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ?
จะหาลูกค้าใหม่เพิ่มให้ได้กี่คน ?
จะหาตัวแทนใหม่เพิ่มได้อีกกี่คน ?
ซึ่งบางอย่างก็อาจเป็นเค้าเอง
นั่นแหละครับ ที่จะได้ประโยชน์ไป
ทั้ง 2 ทางเลย
แต่ทั้งหมดก็เพื่อฝึกนิสัยเค้าครับ
เพราะไม่ว่าจะเป็นนิสัย
ในทางงอแง ชอบเรียกร้อง
หรือนิสัยในทางแฟร์ ๆ
รู้ว่าอยากได้อะไร
เค้าก็ต้องมีส่วน Action
ทุกนิสัยทั้งทางบวกและลบ
ล้วนอยู่ที่คุณฝึกเค้าด้วยทั้งสิ้นครับ
.............................
“การให้” ยังไงก็เป็นสิ่งที่ดีเสมอครับ
แต่คุณต้องรู้จักให้อย่างมีคุณค่า
อย่าว่าง่ายจนเกินไป
ด้วยการชั่งน้ำหนักถึงสิ่งที่จะตามมา
ดูระดับของ Aftershock
ต่อภาพรวม และในระยะยาว
รวมถึงความเหมาะสม
ที่ต้องว่ากัน Case by case ไป
เพราะเมื่อไหร่ที่คุณใจป้ำกระหน่ำให้
วันนึงอาจกลายเป็นปัญหา
กระหน่ำกลับมาใส่คุณเอง
ดังนั้นจดจำ “3 ข้อฉุกคิด” นี้ไว้
เพื่อที่คุณจะได้ ‘ให้’ อย่างมีสติครับ