3 Mindset “การให้แบบผิด ๆ” ที่จะกลายเป็น ‘ยาพิษ’ ต่อลูกทีม


Blog Detail

 
การเป็นผู้นำ ต้องมีความเป็น “ผู้ให้”
 
ข้อนี้ผมไม่เถียงเลยครับ
แต่ทุกอย่างนั้นมีคมสองด้านเสมอ
 
ด้านที่ ‘กำลังพอดี’
การให้ในระดับที่ไม่มากไป ไม่น้อยไป
น้ำใจที่คุณให้จะเข้าไปเทียบท่า
ที่หัวใจของลูกทีมคุณได้
 
ด้านที่ ‘ล้นเกิน’ หรือ ‘ขาดไป’
อาจทิ่มแทงใจคุณเอง หรือบางครั้ง
ก็บาดคนที่เค้าไม่เต็มใจจะรับด้วย
 
ที่กล้าบอกอย่างนี้
เพราะผมเคยเห็นมานักต่อนักแล้วครับ
 
ที่แม่ทีมให้ด้วยใจที่คาดหวังสูง
จนบางครั้งลูกทีมเครียด อึดอัด
หรือตรงกันข้ามกลายเป็นเคยตัวไปเลยก็มี
 
สุดท้ายกลายเป็นปัญหาต่อการคุมคน
ที่เรื้อรังในระยะยาว
 
มันจึงเป็นเรื่องที่คุณต้องคอยชั่งน้ำหนัก
ให้สมดุลกันทั้งสองฝั่ง
 
โดยที่ “การให้” ของคุณต้องไม่อยู่บนพื้นฐาน
Mindset ที่บิดเบือน 3 ข้อนี้ครับ
 
 
1. ให้แบบยัดเยียด
 
สิ่งที่คุณให้จะดีหรือไม่นั้น มันขึ้นกับว่า
เค้ามองว่ามันดีสำหรับเค้าหรือไม่ด้วยครับ
 
ผมเข้าใจว่าแม่ทีมย่อมหวังดีต่อลูก ๆ อยู่แล้ว
อยากเห็นเค้าเติบโต ทำงานง่าย สร้างชีวิตได้
 
แต่สิ่งที่คุณต้องยั้งคิด ไม่ลืมนึกถึงก่อนเสมอ
นั่นคือ “ความพร้อม” ของผู้รับ
 
บางเรื่องคุณอาจอยากเห็นเค้าพัฒนาไว
อยากให้เกิดผลลัพธ์เร็ว ๆ แต่เค้ายังอยู่ใน
ระดับความจุที่พร้อมรับได้ไม่มาก
 
คุณอาจตั้งรางวัล ลุ้นเค้าให้ทำเป้าหลักล้าน
ทั้งที่ทักษะการขายและการตลาดของเค้า
ยังทำได้แค่หลักแสน
 
คุณอาจอยากดันให้เค้าสร้างทีม
แต่วันนี้ฐานลูกค้าของเค้าเองยังไม่นิ่งเลย
 
การเอาแต่อัดไฟมาก ๆ ซัพพอร์ทให้เกินระดับ
แทนที่จะเติมให้เค้าเต็ม อาจทำให้กลายเป็น
ความเครียดลัดวงจร กดดัน  บีบคั้น
แบบอ้อม ๆ แทน
 
แบบนั้นไม่เป็นผลดีกับเค้าแน่ ๆ ครับ
 
เพราะไม่ใช่ภาชนะทุกใบ
ที่จะรับน้ำได้ในปริมาณเทียบเท่าเขื่อน
และก็ไม่ใช่ภาชนะทุกประเภท
ที่จะรับน้ำได้ทุกอุณหภูมิ
 
ดังนั้นประเมินลูกทีมของคุณ
ควบคู่กับสิ่งที่คุณจะให้เค้าด้วยครับ
 
ซึ่งมันคงจะดีสำหรับเค้าแน่ ๆ แหละ
เพียงแต่ใช่สำหรับวันนี้แล้วหรือยังเท่านั้นเอง
 
 
2. เครียดกับผลตอบแทน
 
ทุกครั้งที่จะให้อะไรกับใคร
คุณต้องมีตาชั่งอยู่ในจิตใจด้วยเสมอ
 
เพื่อถ่วงดุลระหว่าง
“น้ำใจ” กับ “ความคาดหวัง”
สองสิ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามกัน
 
จริงอยู่นะครับว่าเวลาที่เราให้อะไรใคร
ก็อยากเห็นผลลัพธ์บางอย่างเกิดขึ้นกับเค้า
 
แต่ธรรมชาติทางจิตใจของคนเรา
บางครั้งก็อดไม่ได้ที่จะแอบลุ้น
คะแนน Feedback ที่กลับมาเหมือนกัน
 
แต่การหมกมุ่นกับความคาดหวังจนเกินไป
นอกจากจะไม่เป็นยาดีสำรับทุกฝ่ายแล้ว
อาจกลายเป็นยาพิษในความสัมพันธ์ด้วย
 
ก่อตัวเป็นความตะขิดตะขวงใจ
ที่เต็มไปด้วยคำว่า “อุตส่าห์” , “ทำไม”
 
อุตส่าห์ซัพพอร์ทตั้งมากมาย แล้วยังทำไม่ได้อีก ?
ทำไมให้ขนาดนี้แล้ว ไม่เห็นได้อะไรเลย ?
 
และอีกมากมายที่รกรุงรังจิตใจของคุณ
 
ดังนั้นให้เค้าอย่างดีที่สุด
เท่าที่สายตาคุณประเมินแล้วว่า
เหมาะสมที่สุดกับสิ่งที่เป็นตอนนั้น
 
ด้วยความคิดที่ว่า “ให้ ก็คือ ให้”
 
ให้ด้วยใจเพื่อผลดีที่เหมาะกับเค้า
ส่วนอะไรที่จะตอบกลับมาถึงคุณนั้น
ถือเป็นโบนัสที่อยู่นอกเหนือความคาดหวัง
 
คิดแบบนี้น่าจะสบายใจกว่าครับ
เพราะไม่งั้นจะกลายเป็นแผลบานปลาย
อย่างที่ผมจะเตือนคุณในข้อถัดไป
 
 
3. แปลงน้ำใจเป็นบุญคุณ
 
การให้โดยไม่รู้จักปล่อยวาง
มักแปลงสภาพความหวังดี
ให้เป็นกลายเป็น ‘การทวงบุญคุณ’
 
และนี่คือสาเหตุของการจบทุกสิ่ง
ที่เคยให้กันมาตั้งแต่อดีต รวมถึงปิดตาย
ประตูที่จะเปิดรับกันในอนาคตด้วย
 
คุณอยากให้อะไร เค้าจะไม่อยากรับอีก
กลัวว่าจะกลายเป็นหนี้ที่ต้องชดใช้
เป็นความรู้สึกลบ ๆ ที่มีต่อกัน
 
ทั้งที่สิ่งนี้สามารถเป็นความรู้สึกทางบวก
ที่เค้าจะเห็นคุณค่าและอยากตอบแทน
ให้คุณจากใจ
 
ถ้าไม่มองว่าโลกนี้สวยเป็นทุ่งดอกลาเวนเดอร์
ก็ต้องยอมรับแหละครับว่าคงไม่ใช่ทุกคนหรอก
ที่เค้าจะซาบซึ้ง เห็นค่าในสิ่งที่ได้รับจากคุณ
 
แต่มันก็เป็นการวัดใจ ได้เห็นใจคนที่ลึกขึ้น
และซื้อใจบางคนได้ยาว ๆ เลยเหมือนกันครับ
 
.......................................
 
จิตของ “ผู้ให้” นั้นสูงส่งกว่า
จิตที่คิดจะ ‘เอาแต่ได้’ เสมอ
 
แต่ทุกสิ่งล้วนต้องยืนอยู่บน
ความสมเหตุสมผลครับ
 
เพราะ “การให้” ก็เหมือนกับ
การเติมน้ำลงไปในแก้วอย่างมีศิลปะ
ที่ต้องรินลงไปด้วยน้ำหนักมือพอดี ๆ
 
การรินที่หนักมือเกินไป
หวังจะให้เต็มเร็ว ๆ หรือกะเอาให้ล้น
ก็ใช่ว่าจะให้ผลที่ดีเสมอไป
 
ทุกอย่างอยู่ที่การบริหารใจของคุณเอง
การกะระดับและจังหวะของน้ำใจ
ที่จะมีผลต่อลูกทีมอย่างพอเหมาะพอดี
 
สุดท้ายจะได้ไม่มีใครเป็นฝ่าย ‘เจ็บ’
หรือ ‘อึดอัดใจ’ ทั้งนั้นครับ