“5 เคล็ดลับ” สอนตัวแทนยังไง ให้เก่งไวแบบก้าวกระโดด


Blog Detail

 
ถ้าต้องลิสต์รายการงานที่ท้าทาย
สำหรับคนเป็นแม่ทีม ผมเชื่อเลยว่า
ต้องมีเรื่องของ “การสอนตัวแทน”
ติดอยู่หนึ่งในโผนั้นด้วยแน่ ๆ
 
เพราะเรื่องการสอนคน
ความท้าทายมันอยู่ตรงที่
ไม่ใช่แค่ทำให้เค้ารู้ ให้เค้าเข้าใจ ให้เค้าจำได้
 
แต่จุดหมายปลายทางคือ
การทำให้เค้าสามารถเอาไป
“ลงมือทำ” ได้จริง ๆ ต่างหาก
 
ซึ่งตัวคนสอนเองก็จำเป็นต้องมีทักษะ เทคนิค
วิธีการสอน ที่เป็นมือโปรระดับหนึ่งเลยทีเดียว
 
ดังนั้นเพื่อที่จะสร้างคนของคุณให้เก่ง
ไปเป็นเรี่ยวแรงช่วยกันผลักดันทีมให้เติบโต
ทั้งแง่ของยอดขายและการขยับขยายทีม
 
ก็ไม่ควรเอาแต่สอนแบบสุ่มสี่สุ่มห้า
 
แต่ขอให้นำเอา 5 วิธีการนี้ไปใช้
แล้วลูกทีมของคุณจะไปได้ไวเลยล่ะครับ
 
 
1. ขาย “ความเชื่อ” ก่อนหลักการ
 
คุณเห็นด้วยกับผมไหมครับว่า
ถ้าคนเราไม่มีแรงจูงใจ
ก็ไม่มีเหตุผลที่เค้าจะอยากเรียนรู้
 
เพราะก็ต้องเข้าใจนะครับว่า
คงไม่ใช่ทุกคนหรอกที่ก้าวเข้ามา
พร้อม “ความเชื่อ” บนเส้นทางแบบ 100%
 
บางคนอาจแค่แหย่เท้าเข้ามาเพื่อลอง
บางคนอาจมาแบบก้ำ ๆ กึ่ง ๆ ยังไม่ค่อยแน่ใจ
บางคนอาจตกกระไดพลอยโจนเข้ามาด้วยซ้ำ
 
มันจึงอาจเป็นการเสียเวลาเปล่า
ถ้าคุณจะรีบสอนเข้าเนื้อหาทันที
โดยที่เค้าก็ยังไม่รู้ตัวเองเลยด้วยซ้ำว่า
จะเอาแน่หรือเปล่า ?
 
ดังนั้นสิ่งที่คุณต้องทำเป็นอันดับแรกเลยก็คือ
พยายามขาย “ความเชื่อ” ให้ได้ก่อนครับ
 
ส่วนเรื่องหลักการข้อ 1 , 2 , 3 นั้น
ให้เบรกรอไว้ก่อนสักครู่
 
ขายไอเดียให้เค้าซื้อให้ได้ก่อน
ตัดสินใจเลือกแบบฟันโช๊ะให้ชัดก่อน
ว่าจะเอายังไง ?
 
เช่น ...
 
“เราจะเอาดีเป็นสุดยอดนักขายให้ได้”
“เราจะให้ทุกคนได้ทำยอดขายทะลุล้านสำเร็จ”
 
เพื่อให้เค้าตอบตัวเองให้ได้ว่า
จะเอาไม่เอา ? จะไปไหมทางนี้ ?
 
เมื่อเค้ามั่นใจแน่ ๆ แล้วว่า
“เออ ฉันจะไปทางนี้แหละ”
จากนั้นจึงค่อยจะมาว่ากันต่อครับ
 
 
2. ขาย “ตัวอย่าง” ก่อนหลักการ
 
แม้หลักการจะเป็นสิ่งที่ต้องจดจำ
แต่ “ตัวอย่าง” จะทำให้เค้าจำแม่น
Get ไว เข้าใจง่าย
 
ซึ่งก็ต้องยอมรับแหละครับว่า
“หลักการ” มันเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ
สำหรับใครหลาย ๆ คน (บางทีคุณเองก็เป็น)
 
อย่างผมเองเวลาสอน
ก็จะยึดวิธีนี้เป็นแนวทางในการสอน
เหมือนกันครับ
 
เช่น ...
 
ถ้าจะสอนเรื่อง “การสร้างแฟนเพจตัวตน”
 
ก็จะยกตัวอย่างเปรียบเทียบ
ว่า “แฟนเพจตัวตน” มีพลังกว่า
“แฟนเพจแบรนด์” ยังไง
 
พร้อมกับเอาภาพตัวอย่างจริง
มาให้เห็นกันจะ ๆ
ทั้ง Feedback และยอดขาย
 
จากนั้นค่อยโยงเข้าสู่หลักการของเรื่องนั้น
 
การสอนด้วยตัวอย่างนำมาแบบนี้
จะทำให้คนเรียนเห็นภาพ เข้าใจง่าย
และเชื่อในสิ่งที่สอน
 
เพราะเค้าได้เห็นทุกอย่างกับตา
ว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ
 
ดังนั้นก่อนจะสอนอะไรใคร
ทำการบ้านเก็บรวบรวมตัวอย่างไว้เยอะ ๆ
เพื่อเป็น Guideline ดี ๆ
ให้ติดในความทรงจำของเค้าไปเลยครับ
 
 
3. ถามคำถามเพื่อ Re - Check
 
หลังจากคุณสอนเค้าด้วยตัวอย่าง
และให้หลักการของเรื่องนั้นไปแล้ว
อย่าเพิ่งปล่อยให้เค้าไปทำ
แบบไม่รู้ชะตากรรมนะครับ
 
เพราะคุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่า
จริง ๆ แล้วสิ่งที่คุณส่งให้ไป
เค้าได้ซึมซับเข้าไปมากน้อยแค่ไหน
หรือมีอะไรตกหล่นระหว่างทางไปบ้าง
 
วิธีที่ดีที่สุดก็คือการถามเพื่อ Re – Check เค้า
ว่าที่ผ่านมาทั้งหมดน่ะ รู้เรื่องไหม ?
 
ซึ่งก็ไม่จำเป็นว่าต้องสอนให้หมด
ตั้งแต่ต้นจนจบ แล้วค่อยมาถามรวด
ทีเดียวก็ได้นะครับ
 
คุณสามารถสอนไป คอยถามเช็คไปด้วยได้
จะช่วยเป็นมาตรวัดให้คุณได้ว่า...
 
เค้าตามคุณทันไหม ?
หลุดโค้งไปช่วงไหนบ้าง ?
เข้าใจจริง ๆ หรือเปล่า ?
หรือเข้าใจไปคนละทางกับที่สอน ?
 
ทำให้ทั้งคุณและเค้าแน่ใจได้ว่า
หลังจากที่สอนไปแล้ว
เค้าจะสามารถเอาไปลงมือทำเป็นจริง ๆ
ได้ผลลัพธ์จริง ๆ
 
ไม่ใช่สอนมาเป็นวัน ๆ
สุดท้ายจับประเด็นอะไรไม่ได้ ทำอะไรไม่ถูก
เผลอ ๆ ไม่รู้เรื่องเลยตั้งแต่บรรทัดแรก
 
เพราะเป็นเรื่องปกติที่แต่ละคน
ย่อมมีพื้นฐานไม่เท่ากัน
 
ยิ่งคุณสอนหลาย ๆ คนพร้อมกัน
โอกาสที่คนใดคนหนึ่ง
จะหลุดตามไม่ทันก็ยิ่งมีสูง
 
มันจะเป็นประมาณว่า
คนอื่นเดินทางถึงสถานีสุดท้ายกันแล้ว
บางคนยังหาทางออกประตูบ้านไม่เจอเลย
 
ดังนั้นถ้าไม่ถามเช็คให้ชัวร์
การสอนของคุณจะไม่ได้ผลเท่าที่ควรครับ
 
 
4. ใช้ภาษาที่เค้าเข้าใจ
 
อย่างที่ผมบอกไปในข้อที่แล้ว
ว่าคุณต้องเจอคนที่มีพื้นฐานไม่เท่ากัน
เป็นเรื่องปกติ
 
บางคนอาจไม่ถนัดศัพท์ภาษาอังกฤษ
บางคนอาจไม่รู้ศัพท์เทคนิคเฉพาะทาง
บางคนอาจไม่คุ้นเคยศัพท์ทางวิทยาศาสตร์
 
ดังนั้นในแต่ละครั้งที่คุณสอน
ก็ต้องดูด้วยว่าผู้เรียนของคุณ
เค้ามีทักษะอยู่ในระดับไหน
 
แล้วให้เลือกใช้ภาษาและคำศัพท์
ในระดับที่เค้าเข้าใจเท่านั้นครับ
 
ถ้าเค้าเป็นกลุ่มที่ยังพื้นฐานอยู่
อย่าเพิ่งยิงศัพท์การตลาด
สาดศัพท์วิชาการเข้าใส่
เพราะเค้าจะงง ไม่รู้เรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ
 
ให้ใช้ภาษาระดับเรียบง่าย
ที่มนุษย์ทั่วไปก็เข้าใจได้ไปก่อน
 
แต่ถ้าเค้าเป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์
ทางด้านนั้นมาแล้วระดับหนึ่ง
คุณสื่อสารด้วยศัพท์สูงที่เค้าเข้าใจได้เลย
เพราะจะทำให้ไปได้ไวเลยด้วยซ้ำ
 
ทุกครั้งก่อนจะสอนใคร
ให้พิจารณาคนฟังของคุณให้ดีเสมอครับ
เพราะภาษาที่ใช้มีผลต่อเค้ามาก ๆ
 
เลือกใช้ภาษาที่เค้าจะเข้าใจได้มากที่สุด
 
ไม่ใช่กระหน่ำใช้แต่คำศัพท์ที่ฟังดูฉลาด
แต่เค้าไม่ Get ที่คุณพูดเลยแม้แต่พยางค์เดียว
 
การสอนในครั้งนั้น
เรียกว่าจบอวสานตั้งแต่เลยล่ะครับ
 
 
5. ตอกย้ำจนจำขึ้นใจ
 
ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณสอน
ไม่ว่าเค้าจะจดลงสมุดโน้ต
หรือสลักใส่สมองส่วนความจำ
ไว้อย่างดีแค่ไหนก็ตาม
 
มันก็ยังไม่สำคัญเท่ากับ
การที่เค้าจะเอามันออกมาใช้ครับ
 
เพราะทั้งหมดที่คุณทำก็เพื่อให้เค้า
เอาไปลงมือทำจริงได้ด้วยตัวเอง
 
ไม่ใช่แค่กักวิชาไว้แค่ในรูปตัวอักษร
หรือเก็บไว้เป็นแค่ Memory ในสมอง
 
สิ่งที่จะทำให้เค้างัดออกไปปฏิบัติจริง
คือต้องกระตุ้น ย้ำเตือนเค้าในแต่ละเรื่อง
 
โดยเฉพาะเรื่องที่เค้าทำแล้ว
จะก่อให้เกิด “ความเปลี่ยนแปลงมหาศาล”
 
ซึ่งคุณเองก็ต้องมีช่วงจังหวะ
ในการกระตุ้นย้ำเตือนที่เหมาะสม
 
ช่วงแรกคือในตอนปิดท้าย
หลังจากที่คุณเพิ่งสอนเรื่องนั้นจบ
 
และช่วงต่อไปคือเว้นสักระยะ
แล้วกลับมาย้ำอีกครั้ง
เพื่อเช็คว่าเค้าจำได้จนขึ้นใจหรือยัง
 
ทำอย่างนี้ซ้ำ ๆ จนกว่าจะมั่นใจว่า
เค้าตระหนักถึงมันแล้วจริง ๆ
 
จากนั้นจึงค่อยข้ามไปเน้นย้ำต่อ
ที่เรื่องอื่นในแบบเดียวกัน
 
ห้ามให้เค้าลืมเด็ดขาดว่า
กลับบ้านไปแล้วต้องทำอะไร
 
เช่น กลับไปแล้วขั้นต่ำต้อง...
 
- เปิด Account เพจ
- จดทะเบียนบริษัท
- ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้น่าเชื่อถือ
 
จุดนี้เป็นจุดที่สำคัญมากเลยนะครับ
มันจะเป็นจุดปล่อยสัญญาณออกสตาร์ท
ให้เกิดการขับเคลื่อนไปข้างหน้า
 
นำไปสู่ประสบการณ์ใหม่ ๆ
ที่เค้าจะเอาความรู้ไปประยุกต์ใช้
ตามเส้นทางที่เค้าเผชิญครับ
 
..................................
 
เคล็ดลับในการสอนทั้ง 5 ข้อนี้
จะช่วยให้ตัวแทนของคุณเข้าใจได้จริง ๆ
จำได้ขึ้นใจจริง ๆ ตระหนักถึงควานสำคัญ
และเอาไปลงมือทำได้จริง ๆ
 
เพื่อให้ทุกอย่างถูกวัดผล
ด้วยความสำเร็จของทุกคนในทีม
 
คุณจึงไม่อาจเอาวิธีสอน
แบบนกแก้วนกขุนทองมาใช้
ในกรณีแบบนี้ได้เด็ดขาดครับ