ก่อนหน้านี้ผมเคยพูดถึง
“5 Checklist การเลือกปั้นตัวแทน”
เพื่อคัดมาเฉพาะคนที่มีคุณสมบัติ
เหมาะแก่การปั้นให้เติบโตจริง ๆ
ที่ต้องพูดถึงประเด็นนี้ ไม่ได้หมายความว่า
เราไม่ให้ความเท่าเทียมกับใครนะครับ
แต่คุณเองมีเวลาและพลังงานจำกัด
การเลือกใครสักคน จึงควรเลือกคนที่
น่าผลักดันส่งเสริมจริง ๆ
(ถ้ายังไม่ได้อ่านหรือลืมไปแล้ว
แนะนำที่ลิงค์นี้เลยครับ
“5 Checklist การเลือกปั้นตัวแทน”)
เมื่อครั้งนั้นคุณได้รู้ไปแล้ว
ถึงลักษณะของคนที่คุณควรโฟกัส
มาในครั้งนี้ผมก็จะบอกเพิ่มอีก
ถึงวิธีการที่จะใช้ทดสอบว่าเค้า
มีลักษณะตามนั้นจริง ๆ หรือเปล่า
โดยไม่ต้องถึงกับแสกนสมองกันแต่อย่างใด
ว่าแล้วก็ไปเริ่มกันทีละข้อกันเลยครับ
1. มอบหมายหน้าที่นอกเหนือจากเดิม
คนไหนจะจำกัดตัวเองอยู่ในกรอบ
หรือมีมุมมองพร้อมขยายตัวเองไปกว่าเดิม
วิธีง่าย ๆ เลย คือมอบหมายหน้าที่
ที่นอกเหนือไปจากเดิมให้เค้าทำ
แล้วก็รอดู Feedback ที่ตามมาครับ
สิ่งที่คุณจะได้เห็นมักเป็นลักษณะที่ว่า...
บ่นกระจาย
“ทำไมต้องให้ฉันทำเรื่องนี้ด้วย ?”
“มันใช่หน้าที่ของฉันไหม เงินก็ได้เท่าเดิม ?”
หรือยอมรับได้
“อ๋อได้ค่ะพี่ เดี๋ยวหนูจัดการให้เลย”
คนแบบที่สองนี่แหละครับ น่าสนใจ
ผมไม่ได้บอกว่าการทำอะไร
ที่นอกเหนือหน้าที่จนเกินไปนั้น
เป็นเรื่องที่ดีไปซะหมดนะครับ
แต่การทดสอบนี้จะทำให้คุณรู้ว่า
เค้าเป็นคนที่มีความยืดหยุ่นสักแค่ไหน
สามารถปรับตัวได้เก่งแค่ไหน
ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เอื้อต่อการเติบโตครับ
2. แนะนำให้เค้าพัฒนาตัวเอง
การพัฒนาตัวเองนั้นมีหลากหลายวิธี
คุณอาจแนะนำให้เค้าไปเรียนคอร์สนี้
อ่านหนังสือเล่มนี้ ฯลฯ
สิ่งที่คุณจะเห็นได้ชัด
คือความเปลี่ยนแปลงของเค้า
ว่าเก่งขึ้นในเรื่องที่แนะนำไปไหม ?
มีวิธีคิดเปลี่ยนไปแค่ไหน ?
มันก็อาจไม่สามารถวัดได้ชัดเจนมากนัก
แต่อย่างน้อย ๆ เค้าจะบ่งบอกอะไร
ให้คุณได้เห็น
อย่างน้อย ๆ เค้าก็อาจกลับมาบอกคุณว่า...
“หนูลองไปหาหนังสือเล่มที่พี่แนะนำแล้วไม่เจอ
แต่เล่มนี้ก็น่าสนใจ น่าจะแทนกันได้ไหมคะ ?”
“หนูลองไปดูคอร์สนี้แล้ว
ราคาค่อนข้างแพงนิดนึง
แต่อีกคอร์ส Outline ก็น่าสนใจ
คิดว่าน่าลองลงเรียนเหมือนกันนะคะ”
คนที่หิวการเจริญเติบโต อยากพัฒนาตัวเอง
เค้าจะขยับก้าวอะไรบางอย่างให้คุณเห็น
แม้จะเป็นการขยับแค่จุดเล็ก ๆ ก็ตามครับ
3. ลองให้วิจารณ์คน
ด้วยวิธีนี้คุณจะได้เห็นทัศนคติ
ในการมองคนของเค้าครับ
บางคนอาจมองคนในแง่ร้าย
มองใครไม่ดีไปหมด
บางคนอาจมองคนอย่างสมเหตุสมผล
มองตามความจริง เป็นแนว “ติเพื่อก่อ”
นอกจากนี้ก็ยังเป็นเรื่องของ...
A) ระดับในการมองปัญหา
ว่าเค้ามองแค่ผิว ๆ
วิเคราะห์อะไรไม่ลึกซึ้งมากพอ
ที่จะเชื่อมโยงไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดได้
หรือมองออกถึงเชิงลึก
ว่าประเด็นที่แท้จริงคืออะไร
ควรเน้นจุดแข็ง หรือปรับแก้จุดอ่อนยังไงบ้าง
B) วิธีใช้คำพูด
รุนแรงเกินไปจนคนฟังรับไม่ได้
หรืออ่อนเกินไปจนไม่อยากปรับปรุง
เพราะถ้าวันหนึ่งที่เค้าเติบโต
สิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อการคุมทีม
การบริหารคนของเค้าเป็นอย่างมากครับ
4. แนะนำวิธีการใหม่ ๆ
ถ้าคุณแนะนำให้เค้าทำเรื่องเดิม
ด้วยวิธีการที่ต่างไปจากเดิม
ดูซิว่าเค้าจะทำตามคุณไหม ?
ในเบื้องต้นอาจไม่จำเป็นต้องเรื่องยาก ๆ
แค่ให้ลองโพสท์ถี่ขึ้น
ลองเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ให้น่าเชื่อถือ
ลองเปิดเพจ ลองเขียนโปรไฟล์ตัวเองใหม่
แค่เค้าทำตามหรือไม่ มันก็บอกได้เลยว่า
เค้าเชื่อคุณไหม ?
พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตามคุณไหม ?
สนใจในสิ่งที่ทำจริง ๆ ไหม ?
เอาจริงหรือเปล่า ?
ซึ่งในบางกรณีคุณอาจจะเจออีกแบบ
ที่เค้ามีวิธีคิดเป็นของตัวเอง
เค้าอาจจะไม่ได้ ‘ซื้อ’ วิธีการของคุณ
แต่เค้าจะพยายามลองหาวิธีอื่น
ที่ไปถึงจุดหมายเดียวกันได้
มันก็สะท้อนความตั้งใจ
รวมถึงความคิดสร้างสรรค์
ในการหาวิธีการใหม่ ๆ ของเค้า
ได้ด้วยเหมือนกัน
แต่ถ้าเจอแบบว่าผ่านมา 7 วันแล้ว
“ยังไม่ได้ทำเลยค่ะพี่” ผมว่าแบบนี้
เค้าคงไม่ได้คิดจริงจังอะไรมากมายหรอกครับ
5. ลองชมเค้าดู
คุณจะได้เห็นอาการหลายอย่าง
จากการให้คำชื่นชมนี่แหละครับ
บางคนอาจเฉย ๆ ไม่ยึดติดกับคำชม
เพียงเพราะมุ่งมั่นให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด
บางคนอาจดีใจมาก ๆ
รู้สึกว่าคำชมนั้น คือพลังและกำลังใจ
ที่สำคัญมากสำหรับเค้า
บางคนอาจกลายเป็นหลงตัวเอง
แล้วเหลิงไปเลยก็มีครับ
การให้คำชม ก็คล้ายกับการให้รางวัล
มันสามารถวัดปฏิกิริยาของคนได้เลยว่า
เมื่อได้รับสิ่งที่ดีไป ในที่สุดแล้ว
เค้าจะกลายเป็นคนยังไง ?
เค้าจะยังเป็นคนน่ารักเหมือนเดิมไหม ?
เค้าจะมีไฟ Active มากขึ้นหรือเปล่า ?
หรือเหลิงทะนงตัวชนิดพลิกฝ่ามือ
เปลี่ยนเป็นคนละคนไปเลย
การทดสอบด้วยวิธีนี้จะช่วยให้คุณ
เห็นภาพในระยะยาวของเค้า
ได้ระดับนึงเลยเหมือนกันครับ
............................
การทดสอบทั้ง 5 วิธีนี้ จะทำให้คุณได้รู้จัก
ตัวตนของคนที่คุณสนใจอยากจะปั้น
ได้ดียิ่งกว่าการอ่าน Resume การสัมภาษณ์
หรือเข้าเครื่อง MRI แสกนสมองซะอีก
แต่ก็ไม่ใช่แค่ทดสอบ 5 อย่างนี้แล้วก็จบสิ้น
ไม่ต้องทดสอบอะไรอีกแล้วนะครับ
เรื่องอย่างนี้ยังต้องดูกันไปยาว ๆ อยู่ดี
เพราะถึงยังไงสุภาษิตที่ว่า...
“ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน”
ก็เป็นสัจธรรมที่คุณต้องยึดถือไว้เสมอครับ